ความเชื่อในสังคมไทย

คำว่า "ไสยศาสตร์" นั้น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถหาเหตุผล มาหัก ล้างกับความเชื่อได้  เรื่องของความลี้ลับแห่งวิญญาณของมนุษย์ เมื่อตายแล้ว วิญญาณไปอยู่ที่ ไหน  ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ที่อยู่เหนือธรรมชาติ  สามารถช่วยลดความ หวาดกลัวของมนุษย์ลงได้ ช่วยสร้างเกาะกำบังความรู้สึก และก่อให้เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ในสิ่งที่ยังไม่สามารถจะพิสูจน์ได้  ว่าสิ่งนั้นคืออะไร  อีกทั้งยังให้ความเชื่อในเรื่อง เครื่อง รางของขลัง ที่มีอิทธิฤทธิ์และปาฎิหารย์ต่างๆ จากผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับ เรื่องโชคลางที่มา เกี่ยวข้องกับ สังคมไทยในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ ตามความเชื่อของคนไทย ไสยศาสตร์แบ่งออกเป็น ๒ ทาง คือ ไสยศาสตร์ดำ และไสยศาสตร์ขาว ไสยศาสตร์ ดำเป็น ศาสตร์ที่ใช้ในการ ล้างผลาญชีวิต ส่วนไสยศาสตร์ขาว เป็นศาสตร์ที่ใช้ในทางที่เป็นคุณ หรือ การเสกเป่าคาถาต่างๆ ให้ผู้ป่วย นอกจากนั้น คนโบราณยังเชื่อในเรื่องของ ปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น คิ้วกระเหม่น หรือจิ้งจกทัก เป็นต้น

  1. ความหมายและที่มา
  2. ประเภทของไสยศาสตร์
  3. ความเชื่อในลักษณะต่างๆ

ความหมายและที่มา

ความหมาย :
ไสยศาสตร์  คือ ความเชื่อถือ โดยรู้สึกเกรงขามหรือกลัว ในสิ่งที่เข้าใจว่า อยู่ เหนือธรรมชาติ หรือในสิ่งลึกลับ อันไม่สามารถจะทราบด้วยเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์
หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือเรื่องราวเวทมนต์ คาถา เป็นเรื่องของอำนาจลึกลับของผี สาง เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เครื่องลางของขลัง น้ำมนต์ เคล็ดคาถา และอาคมต่างๆ
ไสยศาสตร์แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑  ไสยศาสตร์การเรียนเอาอย่าง  อาศัยกฎแห่งการคล้ายคลึงกัน เป็นแนวทางอนุมานว่า ตนอาจทำให้เกิดผลขึ้นได้ ตามความปรารถนาด้วยการเอาอย่าง   เช่น  การทำเสน่ห์ การแห่นางแมว
ไสยศาสตร์ที่มีเชื้อติดต่อ อาศัยกฎแห่งผัสสะตัวอย่าง เช่น พิธีปูที่นอนของบ่าวสาว
ความเป็นมา :
ไสยศาสตร์  เกิดจากความเขลาของมนุษย์ในอดีต ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่สา มารถเข้าใจ หรืออธิบายได้ว่า ลักษณะความคิดนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากมนุษย์ ขาดความมั่น คงทางจิตใจ และความรู้ จึงเป็นบ่อเกิดของไสยศาสตร์ขึ้นมา ไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่ถูกยกเว้น ให้ไม่ต้องมีการพิสูจน์ เพราะเป็นเรื่องของดวงดาว พระเจ้า เทวดา ปีศาจ หากปล่อยให้มี การพิสูจน์ อาจทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ไป ไสยศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่รู้จัก มองไม่ เห็น ถือเป็นเรื่องลึกลับ เกินกว่าที่ตามนุษย์จะมองเห็น เลยเชื่อกันว่า เป็นอำนาจของผีสาง เทวดา หรืออะไรที่มนุษย์กลัว เป็นเหตุให้เกิดพิธีรีตองขึ้นมา เพื่อทำให้คนเชื่อถือได้สบายใจ

นับได้ว่าไสยศาสตร์มีมาในสังคมไทย นับร้อยๆ ปี โดยเฉพาะในยามสงคราม จะ มีการทำพิธี เพื่อให้ผู้ไปออกรบเกิดขวัญ และกำลังใจให้รบชนะ อาจกล่าวได้ว่า ไสยศาสตร์ได้ มีบทบาทสำคัญ ในการตอบสนองความต้องการร่วมของคนไทย   ซึ่งมนุษย์แต่เดิมนั้น อาศัยอยู่ ตามถ้ำ ป่าเขา ไม่รู้จักแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภค มาอำนวยความสะดวกให้กับตนเอง รู้ จักเพียงการหุงหาอาหาร เพื่อการดำรงชีพตามอัตภาพ ซึ่งมนุษย์มักประสบเหตุการณ์ต่างๆ ทั้ง ความน่ากลัวแปลกประหลาด มนุษย์จึงต้องเสาะหา แหล่งคุ้มครองตนเอง เพื่อให้ปลอดภัย และ ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข จึงเกิดความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งได้มาจากลัทธิที่นับถือ ภูติผี ปีศาจ โดยคำนึงถึงวิญญาณคนตาย ว่าวิญญาณเหล่านั้น อาจมีสถานที่อาศัย เช่นเดียวกับมนุษย์ และมีหัวหน้าเหมือนกับสังคมมนุษย์

ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่มีรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ภูติผีปีศาจ วิญญาณ เจ้าที่เข้าทรง เป็นต้น ซึ่งพบมากในหมู่คนที่มีการศึกษาน้อย หรือไม่ ได้รับการศึกษา ยังเป็นที่น่าแปลกใจว่า ปัจจุบัน เนื่องจากมนุษย์เริ่มมีการศึกษาดี จบถึงขั้น ปริญญาตรี แต่ก็ยังพบพิธีกรรมเหล่านี้อยู่ ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจาก ประชาชนยังขาดที่พึ่ง ทางใจ จึงหันกลับไปยึดถือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย ที่จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ปรารถนา ได้ อย่างน้อยก็เป็นที่พึ่งทางใจ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรยึดถือเลย

ประเภทของไสยศาสตร์ไทย


๑  วิญญาณ  ในพุทธศาสนาวิญญาณ  คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก  ลิ้น กายและใจ กระทบกับอายตนะภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและ ธรรมารมย์  ย่อมเกิดวิญญาณ  ซึ่งมีทั้งเกิดและดับไม่สิ้นสุด วิญญาณที่พบ มักจะมีวิญญาณที่ ถูกกำหนดให้ เฝ้าสมบัติบ้าง   วิญญาณที่รอคอยให้คนช่วยบ้าง  เพราะเมื่อเป็นคนไม่ทำ ความดี พอตายไปก็มีบาปติดตัว ได้รับทุกข์ทรมาน ซึ่งจะเห็นว่า มีให้พบเห็นได้จากคำบอก เล่าถึง  พยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรใช้ตัดคอคน หรือแม้แต่คนที่เฝ้าสมบัติในอุโมงค์ เช่น ปู่โสม เป็นต้น
๒  ผีสางเทวดา สิ่งใดก็ตาม ที่ไม่สามารถมองเห็นตัวตนได้ แต่เราถือว่ามีฤทธิ์และอำนาจ เหนือคนอาจให้คุณ หรือโทษแก่มนุษย์ได้ สิ่งเหล่านี้มนุษย์กลัวเกรงจึงเรียกกันว่าผี ผีนั้น มี ๒ พวก คือ ผีดีและผีร้าย ผีดีแต่เดิมเรียกผีฟ้า แต่พอคำว่าเทวดาเข้ามาจากอินเดีย ก็ใช้คำนี้แทน เช่นผีฟ้า เจ้าป่า เจ้าเขา เทพารักษ์ ผีประจำเมือง ผีบรรพบุรุษ ผีกระ สือ ผีปอบ
๓ พระเครื่องรางของขลัง ที่พระเกจิอาจารย์ได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นการสืบพระพุทธศาสนา และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคน ให้ถึงซึ่งมนุษย์ธรรม พระพุทธองค์ ไม่ได้สอนมนุษย์ ให้นับถือวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งภายนอก เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้นับถือ หลุดพ้นจากทุกข์ หรือ หมดกิเลสได้ แต่ทรงเห็นเรื่องของ การฟอกจิตใจให้สะอาด หมดจดจากกิเลสต่าง ๆ เท่า นั้น ผู้ที่นับถือ หรือสร้างเครื่องรางขึ้นมาเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ และเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ ของเครื่องรางเหล่านั้น  ว่าจะช่วยให้ประสบสิ่งที่พึงปรารถนา ด้วยการอฐิษฐาน ขออานุ ภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์แบบจำลอง จากรูปแบบต่างๆ  เช่น พระพุทธรูป ต่าง  ๆ  เป็นต้น เครื่งรางของขลัง จึงเป็นจึงเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้อง กับพุทธศาสนาบ้างเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่า เครื่องรางของขลังบางชนิด มีราคาสูงมากถึง กับเป็นล้านบาท  เครื่องรางของขลังดังกล่าว ผู้สร้างมักจะสร้างเป็นรูปต่างๆ ที่คิดว่า เป็นสิ่งมงคล  เช่น  เกษรดอกบัว  ขี้ธูป น้ำผึ้ง และรูปจำลองต่างๆ จะสร้างเหมือน เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง
๔ โชคลาง คือ เครื่องหมายที่ปรากฎให้เห็น เพื่อบอกเหตุร้าย หรือเหตุดี เป็นที่รู้กันว่า สัง คมไทยยึดมั่น ในเรื่องโชคลางต่างๆ  มาช้านาน จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ สืบต่อกันมา ได้แก่ ความฝัน  การตั้งชื่อของคน  สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ รูปลักษณะของบุคคล หรือ โหงวเฮ้ง  ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฝนตก แสดงถึงความเยือกเย็น ปลอดภัย ปลอดโปร่งของชีวิต  ถ้าดาวตกห้ามทัก  ถ้าทักจะเข้าท้องสุนัข และดาวนั้นถือว่าเทวดา ลงมาจุติ  กรณีจากประสบการณ์ที่พบเห็น  เช่น เห็นขบวนศพ ถือว่าโชคดี หรือพิธีการ ต่างๆ  เป็นการนำสัญลักษณ์แห่งความสุข ความเจริญของชีวิต หรือแม้กระทั่งการตั้งชื่อ บุตรธิดา  การตั้งนามสกุล ว่ามีบริวาร มีเดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี หรือกาลิณีหรือ ไม่ เป็นต้น

ความเชื่อในลักษณะต่างๆ

คิ้วกระเหม่น

  คนไทยจะเชื่อว่า เป็นลางบอกเหตุทั้งดีและร้าย บ้างก็พูดว่า ถ้า คิ้วขวากระเหม่น จะเป็นลางดี  คิ้วซ้ายกระเหม่น จะเป็นลางร้าย จะเห็นว่าความเชื่อนี้ มีมา แต่โบราณ  โดยเอาลักษณะอวัยวะภายในร่างกาย มาเปรียบเทียบให้เห็น  นับตั้งแต่คิ้ว ตา จมูก  ปาก และไหล่ แม้แต่ในวรรณคดีเก่าแก่ของไทย ยังปรากฎให้เห็นใน วรรณคดีขุนช้างขุน แผน ที่กล่าวไว้ว่า


                หลังตาขวามีผู้ให้ลาภ          หลังตาซ้ายผู้หญิงกล่าวถึง
         กึ่งกลางตาจะมีคนมาสู่                ตาซ้ายเบื้องต่ำเขาจะหาความเอา
         จมูกจะมีคนหาความเอาไม่ดี         หูขวาจะได้ยินข่างร้ายมาบอก
         หูซ้ายดีจะได้ลาภ                      คอข้างขวาจะมีลูกชายอันพึงใจ
         คอข้างซ้ายจะมีลูกหญิงอันพึงใจ     จะรักข้าวของนักนา
         รักแร้ข้างซ้ายจะได้ลาภ               รักแร้ข้างขวาความจะมาถึง
         หัวใจเขาจะทำโทษ                    หลังตาจะได้เป็นน้อยกว่าท่าน
         ปากขวาจะมีลาภ                      ปากล่างจะมีทุกข์เพราะญาติ
         ไปไกลผู้ใหญ่จะให้ลาภ
                                            ฯลฯ

หนูกก จิ้งจกทัก

ถือกันว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย เมื่อจะออกจากบ้าน หรือ เดินทางไปไหน เมื่อมีสัตว์ทักก็ให้หยุดไว้ก่อน หรือถ้าจะทำการสิ่งใด ก็ให้หยุดการนั้นเสีย ดัง จะเห็น ในเสภาขุนช้างขุนแผน ที่บันทึกไว้ว่า

           เงื้อดาบจะฟาดให้ขาดกลาง       พอจิ้งจกทักขวางไม่หางที่
           เงื้องดอดใจไม่ฆ่าตี                 เคราะห์ดีแล้วมึงจึงจะรอดตัว 
ส่วนในตำราพรหมชาติ ได้กล่าวไว้ดังนี้

         "สิทธิการิยะ จะทำนาย หนูร้อง ร้องกุก ๆจะตีด่ากัน ถ้าร้องสิ ๆจะตายจากกัน
         ถ้าร้องขิกๆ จะมีพี่น้องมาสู่ ถ้าร้องคุกๆ จะตีด่ากัน ถ้าร้องขีดๆ จะมีลาภแล"

ตุ๊กแกร้อง 

  โบราณเชื่อกันว่า   เป็นลางบอกเหตุทั้งดีและร้าย  ให้พิจารณาจากการร้องว่า เป็นจำนวนกี่ครั้ง    บ้างก็เชื่อว่า เมื่อได้ยินเสียงตุ๊กแกร้อง จะทำให้ทุกข์ใจ บ้านเมืองไม่สงบ เสียทรัพย์บ้าง แต่ถ้าหากร้องนานหลายครั้ง ตั้งแต่ ๘ ครั้งขึ้นไป หรือ ๑๐ ครั้ง จะมีความสุข ทรัพย์สมบัติมากแล ดังเช่นที่กล่าวว่า


                    ตุ๊กแกร้องครบห้าครั้ง                เรือนใด
               คนอยู่ ณ ภายใน                          จักร้อน
               ทุกข์ทับคับแค้นใจ                        ตรอมเสร้า
               เสียทรัพย์หลบหนีซ่อน                   ทาสแท้คำนึง
                    ตุ๊กแกร้องหกครั้ง                     ดังประสาน
               คนรู้จักพรากสถาน                        เพราะหนี้ 
               ร้านโรงทรัพย์ศฤงคาร                     เขาแย่งหมดนา
               เหลือแต่ตนเลี่ยงลี้                          หลบทิ้งถิ่นไป
                   ตุ๊กแกร้องเจ็ดครั้ง                      ดังดี
               ทุนทรัพย์ในเรือนมี                         หยิบใช้
               ฝูงชนห่อนยายี                              ดูหมิ่นทางนา
               เป็นสุขแสวงหาได้                          ไม่ต้องยืมเขา
                   ตุ๊กแกนิมิตรร้อง                         แปดวาร
               สมบัติทรัพย์ศฤงคาร                       มากไซร้ 
               เหลือกินเก็บประกอบการ                 พานิขย์กรรมนา
               เป็นสุขหาเมียได้                           ไม่ต้องหยิบยืม
                   เก้าทีอุโฆษร้อง                         ดังสรรพ
               เรือเป็ดบ่าวแจวหงับ                       ร่มกั้น
               อยู่แพเพื่อนมารับ                          เชิญเจี๊ยะ  แต้นา
               ซื้อง่ายขายนั้น                             นั่งยิ้มกริ่มเกษม
                    ตุ๊กแกแอบสถิตซ่อน                  ริมฝา
               เย็นย่ำคลานออกมา                       สิบร้อง
               เงินนอนบุตรภรรยา                       มีมากมูลแฮ
               เอกเขนกนอนสูบกล้อง                   ไขว่ห้างแขกหา
                                                ฯลฯ

เสียงการ้อง

  ตามความเชื่อเดิมถือว่า    อีกาเป็นผู้นำข่าวมายังผู้พบเห็น บางครั้งคราวก็บอกข่าวดี บ้างก็บอกข่าวร้าย แต่ส่วนมาก เมื่อเห็นอีกาก็มักจะกลัว และเชื่อว่า จะนำลางไม่ดีมาให้เสียมากกว่า ดังที่ปรากฎในตำราเล่มหนึ่งว่า


                                                                ขอน้อมประณตบทศรี
              จะแต่งตำราการ้องให้ฤกษ์ดี                 ตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ได้เรียนมา
              แม้จะมีที่ไปจากนิเวศน์                       จึงสังเกตการ้องบอกภาษา
              ถ้าการ้องบอกทักว่ากากา                    ไปเบื้องหน้าลาภได้ดังใจ
              ถ้ากาอ้อกาอ้อบอกภาษา                     จะมีคนบูชาสมประสงค์
              ถ้ากาวักกาวักจักทนง                         จะเสียทรงเกิดทุกข์ไม่สุขใจ
              ถ้ากาวากาวาจะม้วยมรณ์                     จะสังหรณ์วายชนจนตักษัย
              ถ้ากาวู้กาวู้ผู้จะไป                              คงจะได้เมียมิตรประสิทธิ์เอย

คาถาอาคม

คาถาอาคมในสังคมไทย มีหลายลักษณะด้วยกัน ขึ้นอยู่ว่า จะนำมาใช้ในทางที่ให้คุณ หรือให้โทษ ตามความเชื่อของคนไทยโบราณ ไม่ว่าจะทำอะไร ให้ตรวจดูโชคชะตาราศี และ มีความเลื่อมใสศรัทธา ทั้งในศาสนา และเทพยพิธีต่างๆ บางกลุ่มยังคงนับถือผีสาง ผีบรรพบุรุษ ในที่นี้จะนำมาเป็นตัวอย่าง เพียงบางอย่างที่น่าสนใจเท่านั้น ดังเช่น

ตำราการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่
อาจกล่าวได้ว่า ศาลพระภูมิกำเนิดมาจาก คติประเพณีของชนเผ่ามองโกล    ที่มี ความเชื่อถือแน่นแฟ้นในเรื่องวิญญาณ  นับถือภูติผีปีศาจ ผีฟ้า และถือว่าในทุกๆแห่งย่อมมีวิญ ญาณสิงสถิตอยู่ เช่น จะทำการแต่งงาน  ก็ต้องมีพิธีไหว้ผี  เด็กคลอดออกมาใหม่ๆ  ต้องมี การเส้นวักแม่ซื้อ  เพื่อป้องกันผี ไม่ให้มาเอาลูกของตนไป  หรือแม้แต่จะลงเรือ ก็ต้องไหว้ แม่ย่านางเรือ   หลังจากนั้นได้ถ่ายทอดไปสู่จีน  ดังจะเห็นว่า หนังสือแทบทุกเล่มของจีน จะ กล่าวถึง อภินิหารของพระภูมิเป็นส่วนใหญ่     ที่มาช่วยดลบันดาล ให้ตัวเอกผ่านพ้นอุปสรรค ทุกอย่าง  ส่วนไทยนั้น ได้รับคตินี้ต่อมาเช่นกัน แต่ในสังคมไทยนั้น นับว่ารับเอาวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามามากทั้งพราหมณ์ ฮินดู และอื่นๆดังที่เห็นในปัจจุบัน

ชาวไทยแต่ดั้งเดิมนั้น   เชื่อถือในเรื่องวิญญาณ   ว่ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง   และ สิงสถิตอยู่ทั่วไป ถ้าผีดีถือว่าเป็นเทวดา ส่วนผีเลว ถือว่าเป็นพวกอสูรกาย ภูติผีปีศาจ ซึ่งมัก สำแดงฤทธิ์เดชในทางไม่ดี เช่น เทวดาที่อารักษ์ตามต้นไม้ใหญ่ หรือเรียนว่ารุกขเทวดา หรือ นางไม้  เป็นต้น ดังนั้นถ้าไปอยู่ในที่ใด ก็ต้องเคารพนับถือ สิ่งที่สถิตอยู่ในที่นั้นๆ เพื่อให้เกิด ศิริมงคล ให้งดการเบียดเบียนข่มเหงตนเอง

การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่  เพื่อให้คุ้มกันรักษาบ้านเรือน และเพื่อให้เกิดความสุข ศิริสวัสดิมงคล แก่เจ้าของบ้าน ต้องคำนึงถึง

  • ๑. ดิถี เลือกวันที่ตรงกับขึ้นแรม คือขึ้นแรม ๒ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ๙ ค่ำ หรือ ๑๑ ค่ำ
  • ๒. วัน ให้ตรงตามลักษณะวันที่บังคับไว้  คือ  วันจัทร์ตั้งพระภูมิสำหรับโรงบ่าวสาว วันอังคารตั้งพระภูมิค่ายดูหอรบ   วันพุธและพฤหัสบดีตั้งพระภูมิรักษาบ้านเรือน  วันศุกร์ให้ตั้ง ศาลพระภูมิรักษานา สวน วัด ส่วนวันเสาร์ให้ตั้งศาลพระภูมิรักษาโขลนทวาร
  • ๓. เดือน ห้ามตั้งในเดือนที่ห้ามไว้ คือ
     
      เดือน ๕ ๙ ๑ ห้ามตั้งศาลพระภูมิวันพฤหัสบดีและวันเสาร์
      เดือน ๖ ๑๐ ๒ ห้ามตั้งศาลวันพุธและวันศุกร์
      เดือน ๗ ๑๑ ๓ ห้ามตั้งศาลวันอังคาร 
      เดือน ๘ ๑๒ ๔ ห้ามตั้งศาลวันจันทร์ 
    และในวันที่เป็นวันโลกาวินาสน์ วันอุบาทว์ประจำปีด้วย
  • ๔. ฤกษ์ที่ใช้ควรเป็นภมิปาโลฤกษ์ มหัทธโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ และราชาฤกษ์
  • ๕.การตั้งศาลให้ตั้งศาลไปสู่ทางทิศ ที่ตรงกับลักษณะของพระภูมิ ตามที่บังคับไว้ คือ
      ถ้าเป็นข้าราชการหรือผู้มียศศักดิ์ ให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ (ทิศอุดร)
      ถ้าเป็นเศรษฐี พ่อค้า ให้หันหน้าไปทางทิศใต้   (ทิศทักษิณ)
      ถ้าเป็นชาวสวน ชาวนา ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ทิศประจิม)
      ถ้าเป็นพระภูมิวัด สาธารณสถาน ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก(ทิศบูรพา)
      ถ้าเป็นพระภูมิโรงบ่าวสาว ให้หันหน้าไปทางทิศอิสาน และอาคเณย์

    โดยส่วนมากจะนิยนหันไปทางทิศอิสาน และทิศอาคเณย์ ส่วนทิศที่จะตั้งศาลพระภูมินั้น ต้องตั้งทางทิศเหนือของบ้านเสมอ หากจำเป็นจึงเลื่อนมาทางทิศใต้ ระวังอย่าให้เงาบ้านทับ ศาลพระภูมิ  หรือเงาพระภูมิทับบ้าน หน้าศาลห้ามหันหน้าตรงเข้าสู่บ้าน และไม่ควรให้หน้า ศาลตรงกับประตู  หน้าต่าง และบันไดบ้าน นอกจากนั้นยังมีสิ่งของที่ต้องใช้ ในการยกศาล การขุดหลุมฝังเสาศาล   ต่างระบุให้ใช้ต่างกัน  และมีคาถาปลุกไม้มงคล  ทำน้ำมนต์ธรณี ศาลประพรม ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบมะตูม ฝักส้มป่อย หญ้าแพรก ผิวมะกรูด แล้วทำน้ำ มนต์ด้วยคาถา

    ตัวอย่างคาถาที่ทำน้ำมนต์

    
                 @         โอง์การพิณทุนากัง        อุป์ปันนัง         พ^รห^มาสหปตินาม      อาทิกัปเป
                             สุอาคโต       ปัญจปทุมังทิส^วา         นโมพุท^ราย       วันทนัง                 ฯฯ
                                                                                    ฯลฯ

    นอกจากนั้นยังมีการทำยันต์ และเครื่องเสวยบูชาฤกษ์ ได้แก่ หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปูทะเล  ปลาช่อน ต้มให้สุกอย่างละ ๑ เท่า พร้อมด้วยน้ำจิ้ม และพร่าหรือยำสักหนึ่งจาน แล้วว่าคาถาบูชาเทวดาต่อไป ( การกล่าวคาถา หรือจัดทำพิธีกรรมต่างๆ ต้องผู้ที่มีความรู้ ทางด้านนี้โดยเฉพาะ )


    ตัวอย่างยันต์จัตตุโร

    แหล่งอ้างอิง


    • เทพย์ สาริกบุตร. เทพยพิธี. พระนคร:อุตสาหกรรมการพิมพ์, 2504.
    • เบญญรัตน์ อติชาตนานนท์. สี่ศาสตร์. กรุงเทพฯ:บริษัทสากลการศึกษาจำกัด, 25-
    • ประจักษ์  ประภาพิทยากร.ประเพณีและไสยเวทวิทยาในขุนช้างขุนแผน.  กรุเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว, 2525.

Orignal web page from:
http://www.chiangmai.ac.th/cyber/human5/ind.html

OCCULT THAILAND